วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

โครงการระบบรถไฟชานเมือง ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน


เป็นหนึ่งในโครงการระบบขนส่งมวลชนและทางด่วนเชื่อมโยงฝั่งพระนครและธนบุรีของกรุงเทพ- มหานคร ที่เกิดจากแนวคิดในการวางระบบโครงข่ายจราจรตามแนวตะวันออก – ตะวันตก ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อความรวดเร็วในการเดินทาง อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตโครงการนี้จะมีเส้นทางต่อเนื่องไปจนถึงจังหวัดนครปฐม เพื่อให้การเดินทางระหว่างชานเมืองกับ ใจกลางเมืองสะดวกและรวดเร็วขึ้น แนวทางรถไฟสายนี้อยู่ในเขตทางของทางรถไฟสายใต้ จึงไม่มีปัญหาในการเวนคืนและการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชน

แนวเส้นทางโครงการ

ก่อสร้างทางรถไฟเริ่มจากจุดเริ่มต้นโครงการ ทางเหนือของสถานีบางซื่อ 2 ประมาณ 800 เมตร วิ่งขนานกับแนวทางรถไฟสายใต้ในปัจจุบัน โดยเป็นทางยกระดับจากบางซื่อไปถึงบางบำหรุ และเริ่มลดระดับที่ กม.7+850 ลงสู่ระดับพื้นดิน จากสถานีบางบำหรุจนกระทั่งสิ้นสุดปลายทางบริเวณจุดตัดถนนสวนผักกาดเขตตลิ่งชัน

ระยะทาง 15.263 กิโลเมตร


รูปแบบโครงสร้าง


โครงสร้างระดับดินเริ่มต้นจากบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนสวนผัก ไปตามแนวเส้นทางรถไฟ สายใต้ผ่านถนนราชพฤกษ์ ข้ามคลองบางกอกน้อย ไปจนถึงซอยหมู่บ้านภาณุรังสี ระยะทางประมาณ 7.560 กม. โดยมีรั้วกั้นตลอดสองข้างทางเพื่อให้เกิดความสะดวก ในการเดินรถ และความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ โดยสามารถไปกลับรถได้ที่ทางกลับรถที่ได้สร้างไว้ จากนั้นจะเป็นโครงสร้างยกระดับ ข้ามถนนจรัลสนิทวงศ์ แม่น้ำเจ้าพระยา ถนนประชาราษฎร์สาย 1 ถนนกรุงเทพ - นนทบุรี ถนนประชาชื่น ข้ามคลองประปา สิ้นสุดที่จุดเชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต ระยะทางประมาณ 7.703 กม.

จำนวนสถานี 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน



ถนนเลียบทางรถไฟ (Local Road)


ก่อสร้างตลอดแนว 2 ข้างทางรถไฟ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 21.76 กม.

ช่วงที่ 1 เริ่มต้นที่บริเวณถนนประชาชื่น วิ่งเลียบทางซ้ายของทางรถไฟปัจจุบันไปสิ้นสุดก่อนข้าม แม่น้ำเจ้าพระยาที่ถนนประชาราษฎร์สาย 1

ช่วงที่ 2 เริ่มต้นที่บริเวณถนนจรัลสนิทวงศ์ วิ่งเลียบสองข้างทางรถไฟผ่านสถานีบางบำหรุ สถานี ตลิ่งชันไปสิ้นสุดบริเวณถนนสวนผักก่อนถึงสถานีบ้านฉิมพลี

ทางกลับรถ (U-Turn) ประกอบด้วย

- สะพานกลับรถบริเวณถนนสวนผัก 1 จุด

- อุโมงค์กลับรถลอดใต้ทางรถไฟ บริเวณคลองบางกอกน้อย 2 จุด

- ทางกลับรถระดับดินบริเวณสถานีบางบำหรุ 2 จุด




วงเงินค่าก่อสร้าง 8,748.399 ล้านบาท

ระยะเวลาก่อสร้าง 1,100 วัน (15 มกราคม 2552 - 19 มกราคม 2555)

ผลประโยชน์ที่จะได้รับ


ปัญหาทางผ่านเสมอระดับซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนจะหมดไป ซึ่งจะทำให้ การเกิดอุบัติเหตุ การจราจรติดขัด และขบวนรถไฟรอหลีกหายไปอย่างสิ้นเชิง

มีโครงสร้างทางใหม่ ปลอดภัย สามารถรองรับการเดินรถไฟด้วยระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของประเทศได้อย่างมาก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

มีระบบการขนส่งทางรถไฟที่สะดวกและทันสมัย ตรงเวลา จูงใจให้คนหันมาใช้บริการรถไฟ มากขึ้น ลดความหนาแน่นของปริมาณการจราจรบนถนนลงได้ โดยคาดว่าเมื่อเดินรถระบบไฟฟ้าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 60,000 คน/วัน ในปีที่เปิดดำเนินการ

เมื่อมีการต่อขยายเส้นทางถึงจังหวัดนครปฐม จะส่งผลให้การบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งเสริมให้คนย้ายที่อยู่อาศัยไปอยู่ชานเมืองมากขึ้น เพราะสามารถเดินทางไป-กลับกรุงเทพฯ ได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ อันเป็นการส่งเสริมนโยบาย Modal shift ของประเทศไทย

โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะรองรับขบวนรถไฟฟ้าชานเมือง ร่วมกับขบวนรถไฟทางไกล โดยขบวนรถไฟฟ้าชานเมืองจะจอดตามสถานีรายทาง ได้แก่ ตลิ่งชัน บางบำหรุ บางซ่อนและบางซื่อ ส่วนขบวนรถไฟทางไกล จะจอดเฉพาะที่สถานีบางบำหรุและบางซื่อเท่านั้น ทั้งนี้ การเดินขบวนรถไฟฟ้าชานเมืองจะเชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกัน โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต โดยจะมีการจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ตลอดจนจัดหาตู้รถไฟฟ้าไปพร้อมกันทั้งสองโครงการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น