วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

โครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง





ความเป็นมาของโครงการ

รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนที่จะช่วยให้ เกิดการประหยัดพลังงาน การลดต้นทุนการขนส่ง และการลดปัญหามลพิษ จึงได้มีการพิจารณาการลงทุนด้านการขนส่งทางระบบรางมาโดยลำดับ เพื่อให้การลงทุนมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 เห็นชอบในหลักการแนวทางการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามลำดับความสำคัญจำเป็นเร่งด่วน 5 เส้นทาง รวมระยะทาง 118 กม. ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ข้อเสนอแนะและความต้องการของประชาชนและเห็นชอบการกำหนดนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ทางรางฯ และแผนการดำเนินงานโครงการ โดยให้ปรับชื่อโครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง เป็น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้มีความเข้าใจแนวทางการดำเนินโครงการขนส่งมวลชนระบบรางที่ชัดเจน สะท้อนพื้นที่และรูปแบบการให้บริการ ซึ่งประกอบด้วย

ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ของ รฟท. ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน, บางซื่อ – รังสิต และ บางซื่อ – มักกะสัน – หัวหมาก รวมระยะทางประมาณ 60 กม. ทำหน้าที่ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ด้วยระบบรางที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขต กทม. ที่มีโครงข่ายอยู่แล้ว และที่จะสร้างเพิ่มในอนาคต (รฟม. และ กทม. )
 
ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีน้ำเงินของ รฟม. และรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม. รวมระยะทางประมาณ 77 กม. ซึ่งเป็นการกระจายการเดินทางในเมืองที่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ใน กทม. เกิดเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ สะดวกในการเดินทางของประชาชน ลดความแออัดการจราจรและมลภาวะทางถนน

เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ศักยภาพ และคุณภาพการให้บริการรถไฟชานเมืองของ รฟท. ให้สามารถให้บริการได้อย่างสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ตลอดจนเตรียมรองรับการให้บริการเดินรถด้วยระบบรถไฟฟ้าในอนาคต คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 อนุมัติโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงรังสิต – บางซื่อ – ตลิ่งชัน ประกอบด้วยช่วงบางซื่อ – รังสิต ระยะทางประมาณ 26 กม. วงเงิน 52,220 ล้านบาท และ ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ระยะทางประมาณ 15 กม. วงเงิน 13,133 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระการลงทุนในส่วนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ภายใต้การดำเนินโครงการดังกล่าว ทางรถไฟและถนนตัดผ่านจะอยู่คนละระดับ ไม่มีจุดตัดเสมอระดับอีกต่อไป ดังนั้นปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางผ่าน รวมทั้งการเกิดอุบัติเหตุที่ทางผ่านก็จะหมดไปอย่างสิ้นเชิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น