วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

โครงการระบบรถไฟชานเมืองช่วงบางซื่อ - รังสิต

เดิมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับ การเร่งรัดให้ดำเนินการในสายเหนือ ช่วงบางซื่อ – รังสิตก่อน รวมทั้งพัฒนาสถานีรถไฟบางซื่อเป็นสถานีหลัก เพื่อลดจำนวนขบวนรถไฟเข้าสู่สถานีหัวลำโพงให้เหลือน้อยที่สุด ต่อมาได้มีการปรับขอบเขตโครงการให้เพิ่มปริมาณความจุของทางและการเดินรถที่ความเร็วสูงขึ้น สะดวก ปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาสถานีบางซื่อให้เป็นสถานีกลาง โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้ย่านพหลโยธินเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของกรุงเทพมหานครด้านเหนือ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการสานต่อโครงการระบบการขนส่งทางราง ตามนโยบายรัฐบาล จึงได้มีการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการ และปรับแบบรายละเอียด เพื่อให้สามารถรองรับต่อการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้บริการในระบบรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง อีกทั้งมีขีดความสามารถในการเดินรถขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าในโครงข่ายเดียวกัน และเชื่อมโยงการเดินทางของระบบรถไฟและโครงข่ายระบบขนส่งอื่นๆ อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น เพื่อจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการ และประหยัดค่าเชื้อเพลิงการขนส่ง นับเป็นแนวทางแก้ปัญหาการขนส่งและจราจรอย่างยั่งยืน

แนวเส้นทางโครงการ


เริ่มต้นจาก กม.6+000 (จากหัวลำโพง) ประมาณ 1.8 กม. ทางทิศใต้ของสถานีบางซื่อ ไปตาม แนวเขตทางรถไฟในเส้นทางรถไฟสายเหนือ ผ่านเขต จตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และไปสิ้นสุดที่สถานี รังสิต จังหวัดปทุมธานี ระยะทางยาวประมาณ 26.3 กิโลเมตร โดยในอนาคตอันใกล้นี้จะต่อขยายไปยังมหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต


ขนาดทาง
ขนาดทาง 1.000 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 3 ทาง เชื่อมต่อกับทางรถไฟสายเหนือในปัจจุบัน

รูปแบบโครงสร้างทางรถไฟ
ก่อสร้างเป็นทางยกระดับ จากบางซื่อ (กม.6+000) ไปถึงดอนเมือง (กม.25+232) ระยะทาง 19.2 กม. และลดระดับลงอยู่ระดับพื้นดิน จากสถานีดอนเมือง (กม.25+232) ถึงรังสิต (กม.32+350) ระยะทาง 7.1 กม. โดยมีรั้วกั้นตลอดแนวจากดอนเมืองถึงรังสิต


สถานีรายทาง เป็นสถานียกระดับ จำนวน 8 สถานี ประกอบด้วย
สถานีกลางบางซื่อ ( กม.7+800 )

สถานีจตุจักร ( กม.10+275 )
สถานีบางเขน ( กม.13+281 )

สถานีทุ่งสองห้อง ( กม.14+750 )

สถานีหลักสี่ ( กม.17+943 )
สถานีการเคหะ ( กม.19+500 )
สถานีดอนเมือง ( กม.21+525 )
สถานีรังสิต ( กม.30+347 )
สถานีวัดเสมียนนารี ( กม.12+340 )
สถานีหลักหก ( กม.27+477 )

รูปแบบสถานีรายทาง

สถานีรายทางจากบางซื่อ – รังสิต จะมีรูปแบบและลักษณะการใช้งานแตกต่างกันดังนี้



ชั้นใต้ดิน (Basement Level) เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน โดยมีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถ ขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และมีทางเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของระบบขนส่ง มวลชนรถไฟฟ้าใต้ดินของ รฟม.

ชั้นพื้นดิน ประกอบด้วย

โถงพักคอยและรับผู้โดยสาร

พื้นที่ชั้นลอยสำหรับควบคุมระบบการเดินรถ และมีส่วนสำหรับต้อนรับบุคคลสำคัญ

พื้นที่โถงสำหรับจำหน่ายตั๋วโดยสาร และจุดเชื่อมต่อไปยังสถานีบางซื่อของ รฟม.

พื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า

ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลารถไฟทางไกล รูปแบบชานชาลาตรงกลาง จำนวน 6 ชานชาลา สามารถ ตั้งขบวนรถได้ 12 ขบวน

ชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลารถไฟชานเมือง รูปแบบชานชาลาตรงกลาง จำนวน 6 ชานชาลา ระยะแรก เปิดใช้ 2 ชานชาลา

สถานีประเภทที่ 1

เป็นสถานียกระดับรองรับเฉพาะรถไฟฟ้าชานเมือง ได้แก่ สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี (ก่อสร้างในอนาคต) สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ และสถานีการเคหะ


ชั้นพื้นดิน ( Ground Floor Level ) เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถรับ - ส่งผู้โดยสารที่จะใช้บริการ


ชั้นที่ 2 ( Concourse Level ) เป็นชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และเป็นพื้นที่รองรับผู้โดยสาร

ที่จะผ่านขึ้นไปยังชานชาลา
ชั้นที่ 3 ( CT Platform Level ) เป็นชั้นชานชาลารถไฟฟ้าชานเมือง รูปแบบชานชาลาด้านข้าง ( Side Platform )

สถานีประเภทที่ 2

เป็นสถานียกระดับ รองรับทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองและรถไฟทางไกล ได้แก่ สถานีดอนเมือง


ชั้นพื้นดิน : เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถรับ – ส่งผู้โดยสารที่จะใช้บริการ

ชั้นที่ 2 : เป็นชั้นจำหน่ายตั๋ว และเป็นพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่จะผ่านขึ้นไปยังชานชาลารถไฟฟ้าชานเมืองและรถไฟทางไกล

ชั้นที่ 3 : เป็นชั้นชานชาลารถไฟทางไกล ( LD Platform Level ) รูปแบบชานชาลาตรงกลาง ( Center Platform )

ชั้นที่ 4 : เป็นชั้นชานชาลารถไฟฟ้าชานเมือง รูปแบบชานชาลาตรงกลาง

สถานีประเภทที่ 3

เป็นสถานีระดับดิน รองรับเฉพาะรถไฟฟ้าชานเมือง ได้แก่ สถานีหลักหก (ก่อสร้างในอนาคต)


ชั้นพื้นดิน : เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟฟ้าชานเมือง รูปแบบชานชาลาด้านข้าง

ชั้นที่ 2 : เป็นชั้นจำหน่ายตั๋ว และพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่จะผ่านลงไปยังชานชาลา
   
สถานีประเภทที่ 4

เป็นสถานียกระดับ รองรับรถไฟฟ้าชานเมือง และระดับดิน รองรับรถไฟทางไกล ได้แก่ สถานีรังสิต


ชั้นพื้นดิน : เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟทางไกล รูปแบบชานชาลาตรงกลาง และพื้นที่จอดรถรับ- ส่งผู้โดยสาร

ชั้นที่ 2 : เป็นชั้นจำหน่ายตั๋ว และพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่จะผ่านไปยังชานชาลารถไฟทางไกล และรถไฟฟ้าชานเมือง

ชั้นที่ 3 : เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟฟ้าชานเมือง รูปแบบชานชาลาตรงกลาง

ถนนเลียบทางรถไฟ (Local Road)

ก่อสร้างเป็นถนน 4 ช่องทางจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและแบ่งเบาการจราจรในสายหลัก ที่มีการตัดผ่านซอย แยก และถนนสายหลักต่างๆ ได้แก่

ช่วงบางซื่อ - หลักสี่ อยู่ทางซ้ายของทางรถไฟปัจจุบัน

ช่วงหลักสี่ - ดอนเมือง อยู่ระหว่างทางรถไฟใหม่ และทางรถไฟปัจจุบัน

ช่วงดอนเมือง – รังสิต อยู่ทางซ้ายของทางรถไฟปัจจุบัน

โดยมีสะพานข้ามถนนเลียบทางรถไฟบริเวณทางผ่านเปรมประชา และบริเวณซอยพหลโยธิน 87

รูปแบบการเดินรถ

สามารถรองรับการเดินรถไฟ 3 ระบบในโครงสร้างเดียวกัน คือระบบรถไฟทางไกล ระบบรถไฟฟ้าชานเมือง และระบบรถไฟขนส่งสินค้า โดยมีโครงข่ายเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับโครงการระบบรถไฟ ชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน จึงได้ออกแบบให้ใช้ศูนย์ควบคุมการเดินรถ และศูนย์ซ่อมบำรุงร่วมกัน ที่ย่านสถานีกลางบางซื่อ และได้จัดรูปแบบการเดินรถของ รฟท. ในปัจจุบัน ได้แก่ รถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง และรถสินค้าที่ลากจูงด้วยหัวรถจักรดีเซล ให้เดินรถร่วมกับรถไฟชานเมืองรูปแบบใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยติดตั้งระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ (Automatic Train Operation ATO) ในรถแบบใหม่ และติดตั้งระบบ Automatic Train Protection (ATP) เพิ่มเติมบนหัวรถจักรดีเซล เพื่อให้ขบวนรถทั้งสองระบบเดินรถร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ผู้ใช้บริการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต สามารถเปลี่ยนระบบไปยังระบบขนส่งอื่นหรือเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางซื่อ – บางใหญ่) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง) และรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน เข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกสบาย

วงเงินลงทุนโครงการ

งานโยธา (Civil Works) 49,261 ล้านบาท (ไม่รวมงานรื้อย้ายผู้บุกรุก)

งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E & M Works) 26,175 ล้านบาท (รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้า)

ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ( พ.ศ.2553-2557 )

ผลประโยชน์ที่จะได้รับ

ลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนจำนวน 8 จุด และลดการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างสิ้นเชิง

สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเดินรถไฟทางไกลสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยรองรับการเดินรถที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเดินรถระบบรถไฟชานเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของประเทศได้อย่างมาก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ระบบขนส่งทางรถไฟที่สะดวก ทันสมัย ตรงเวลา จะจูงใจให้คนหันมาใช้บริการรถไฟมากขึ้น โดยคาดว่าเมื่อเดินรถระบบรถไฟฟ้าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน ในปีที่เปิดดำเนินการ และเมื่อขยายโครงการจากบางซื่อไปชุมทางบ้านภาชีในอนาคต จะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารที่คาดว่าจะมีประมาณ 449,080 คน/วัน สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างเดิมของโฮปเวลล์ ได้

โครงการระบบรถไฟชานเมือง ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน


เป็นหนึ่งในโครงการระบบขนส่งมวลชนและทางด่วนเชื่อมโยงฝั่งพระนครและธนบุรีของกรุงเทพ- มหานคร ที่เกิดจากแนวคิดในการวางระบบโครงข่ายจราจรตามแนวตะวันออก – ตะวันตก ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อความรวดเร็วในการเดินทาง อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตโครงการนี้จะมีเส้นทางต่อเนื่องไปจนถึงจังหวัดนครปฐม เพื่อให้การเดินทางระหว่างชานเมืองกับ ใจกลางเมืองสะดวกและรวดเร็วขึ้น แนวทางรถไฟสายนี้อยู่ในเขตทางของทางรถไฟสายใต้ จึงไม่มีปัญหาในการเวนคืนและการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชน

แนวเส้นทางโครงการ

ก่อสร้างทางรถไฟเริ่มจากจุดเริ่มต้นโครงการ ทางเหนือของสถานีบางซื่อ 2 ประมาณ 800 เมตร วิ่งขนานกับแนวทางรถไฟสายใต้ในปัจจุบัน โดยเป็นทางยกระดับจากบางซื่อไปถึงบางบำหรุ และเริ่มลดระดับที่ กม.7+850 ลงสู่ระดับพื้นดิน จากสถานีบางบำหรุจนกระทั่งสิ้นสุดปลายทางบริเวณจุดตัดถนนสวนผักกาดเขตตลิ่งชัน

ระยะทาง 15.263 กิโลเมตร


รูปแบบโครงสร้าง


โครงสร้างระดับดินเริ่มต้นจากบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนสวนผัก ไปตามแนวเส้นทางรถไฟ สายใต้ผ่านถนนราชพฤกษ์ ข้ามคลองบางกอกน้อย ไปจนถึงซอยหมู่บ้านภาณุรังสี ระยะทางประมาณ 7.560 กม. โดยมีรั้วกั้นตลอดสองข้างทางเพื่อให้เกิดความสะดวก ในการเดินรถ และความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ โดยสามารถไปกลับรถได้ที่ทางกลับรถที่ได้สร้างไว้ จากนั้นจะเป็นโครงสร้างยกระดับ ข้ามถนนจรัลสนิทวงศ์ แม่น้ำเจ้าพระยา ถนนประชาราษฎร์สาย 1 ถนนกรุงเทพ - นนทบุรี ถนนประชาชื่น ข้ามคลองประปา สิ้นสุดที่จุดเชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต ระยะทางประมาณ 7.703 กม.

จำนวนสถานี 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน



ถนนเลียบทางรถไฟ (Local Road)


ก่อสร้างตลอดแนว 2 ข้างทางรถไฟ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 21.76 กม.

ช่วงที่ 1 เริ่มต้นที่บริเวณถนนประชาชื่น วิ่งเลียบทางซ้ายของทางรถไฟปัจจุบันไปสิ้นสุดก่อนข้าม แม่น้ำเจ้าพระยาที่ถนนประชาราษฎร์สาย 1

ช่วงที่ 2 เริ่มต้นที่บริเวณถนนจรัลสนิทวงศ์ วิ่งเลียบสองข้างทางรถไฟผ่านสถานีบางบำหรุ สถานี ตลิ่งชันไปสิ้นสุดบริเวณถนนสวนผักก่อนถึงสถานีบ้านฉิมพลี

ทางกลับรถ (U-Turn) ประกอบด้วย

- สะพานกลับรถบริเวณถนนสวนผัก 1 จุด

- อุโมงค์กลับรถลอดใต้ทางรถไฟ บริเวณคลองบางกอกน้อย 2 จุด

- ทางกลับรถระดับดินบริเวณสถานีบางบำหรุ 2 จุด




วงเงินค่าก่อสร้าง 8,748.399 ล้านบาท

ระยะเวลาก่อสร้าง 1,100 วัน (15 มกราคม 2552 - 19 มกราคม 2555)

ผลประโยชน์ที่จะได้รับ


ปัญหาทางผ่านเสมอระดับซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนจะหมดไป ซึ่งจะทำให้ การเกิดอุบัติเหตุ การจราจรติดขัด และขบวนรถไฟรอหลีกหายไปอย่างสิ้นเชิง

มีโครงสร้างทางใหม่ ปลอดภัย สามารถรองรับการเดินรถไฟด้วยระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของประเทศได้อย่างมาก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

มีระบบการขนส่งทางรถไฟที่สะดวกและทันสมัย ตรงเวลา จูงใจให้คนหันมาใช้บริการรถไฟ มากขึ้น ลดความหนาแน่นของปริมาณการจราจรบนถนนลงได้ โดยคาดว่าเมื่อเดินรถระบบไฟฟ้าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 60,000 คน/วัน ในปีที่เปิดดำเนินการ

เมื่อมีการต่อขยายเส้นทางถึงจังหวัดนครปฐม จะส่งผลให้การบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งเสริมให้คนย้ายที่อยู่อาศัยไปอยู่ชานเมืองมากขึ้น เพราะสามารถเดินทางไป-กลับกรุงเทพฯ ได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ อันเป็นการส่งเสริมนโยบาย Modal shift ของประเทศไทย

โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะรองรับขบวนรถไฟฟ้าชานเมือง ร่วมกับขบวนรถไฟทางไกล โดยขบวนรถไฟฟ้าชานเมืองจะจอดตามสถานีรายทาง ได้แก่ ตลิ่งชัน บางบำหรุ บางซ่อนและบางซื่อ ส่วนขบวนรถไฟทางไกล จะจอดเฉพาะที่สถานีบางบำหรุและบางซื่อเท่านั้น ทั้งนี้ การเดินขบวนรถไฟฟ้าชานเมืองจะเชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกัน โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต โดยจะมีการจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ตลอดจนจัดหาตู้รถไฟฟ้าไปพร้อมกันทั้งสองโครงการ

โครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง





ความเป็นมาของโครงการ

รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนที่จะช่วยให้ เกิดการประหยัดพลังงาน การลดต้นทุนการขนส่ง และการลดปัญหามลพิษ จึงได้มีการพิจารณาการลงทุนด้านการขนส่งทางระบบรางมาโดยลำดับ เพื่อให้การลงทุนมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 เห็นชอบในหลักการแนวทางการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามลำดับความสำคัญจำเป็นเร่งด่วน 5 เส้นทาง รวมระยะทาง 118 กม. ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ข้อเสนอแนะและความต้องการของประชาชนและเห็นชอบการกำหนดนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ทางรางฯ และแผนการดำเนินงานโครงการ โดยให้ปรับชื่อโครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง เป็น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้มีความเข้าใจแนวทางการดำเนินโครงการขนส่งมวลชนระบบรางที่ชัดเจน สะท้อนพื้นที่และรูปแบบการให้บริการ ซึ่งประกอบด้วย

ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ของ รฟท. ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน, บางซื่อ – รังสิต และ บางซื่อ – มักกะสัน – หัวหมาก รวมระยะทางประมาณ 60 กม. ทำหน้าที่ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ด้วยระบบรางที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขต กทม. ที่มีโครงข่ายอยู่แล้ว และที่จะสร้างเพิ่มในอนาคต (รฟม. และ กทม. )
 
ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีน้ำเงินของ รฟม. และรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม. รวมระยะทางประมาณ 77 กม. ซึ่งเป็นการกระจายการเดินทางในเมืองที่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ใน กทม. เกิดเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ สะดวกในการเดินทางของประชาชน ลดความแออัดการจราจรและมลภาวะทางถนน

เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ศักยภาพ และคุณภาพการให้บริการรถไฟชานเมืองของ รฟท. ให้สามารถให้บริการได้อย่างสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ตลอดจนเตรียมรองรับการให้บริการเดินรถด้วยระบบรถไฟฟ้าในอนาคต คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 อนุมัติโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงรังสิต – บางซื่อ – ตลิ่งชัน ประกอบด้วยช่วงบางซื่อ – รังสิต ระยะทางประมาณ 26 กม. วงเงิน 52,220 ล้านบาท และ ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ระยะทางประมาณ 15 กม. วงเงิน 13,133 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระการลงทุนในส่วนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ภายใต้การดำเนินโครงการดังกล่าว ทางรถไฟและถนนตัดผ่านจะอยู่คนละระดับ ไม่มีจุดตัดเสมอระดับอีกต่อไป ดังนั้นปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางผ่าน รวมทั้งการเกิดอุบัติเหตุที่ทางผ่านก็จะหมดไปอย่างสิ้นเชิง